19 กรกฎาคม 2552

ความเป็นมาของ โดราเอม่อน ตอนจบ

พล็อตเรื่อง โดราเอม่อนตอนจบนั้น ตามที่ได้ทราบกันดีนั้น คือมีที่มาจากฟิกชั่น ที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบ แฟนฟิคชั่น ข่าวลือ หรือ เมล์ลูกโซ่ โดย พล็อตนั้นก็มีหลายหลาย ส่วนมากที่พบจะเกี่ยวกับ ความตาย, ความฝัน, อุบัติเหตุ ซึ่งที่พบเห็นบ่อย ก็จะมีอยู่ใน 3 รูปแบบ คือ

- โนบิตะ เป็นคนสร้างโดราเอม่อน
- โนบิตะ ป่วยเป็นโรคร้ายแรง
- เรื่องทั้งหมดของโดราเอม่อน เป็นเรื่องที่โนบิตะฝันไปเอง

ซึ่งที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน คือพล็อตแรก (โนบิตะเป็นคนสร้างโดราเอม่อน) และพล็อตที่สอง (โนบิตะป่วยเป็นโรคร้ายแรง+ฝันเรื่องโดราเอม่อนไปเอง) แต่อย่างไรก็ดี โดราเอม่อนตอนจบทุกแบบนั้น ล้วนแต่เป็นเพียงเสียงเล่าอ้าง และไม่มีหลักฐานใดๆอย่างชัดเจน จึงเป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น

ส่วนในต้นฉบับของจริงแล้วนั้น โดราเอม่อนนั้นเคยจบไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยเป็นตอนสุดท้ายของรวมเล่ม ที่ 6 ชื่อตอนว่า 'ลาก่อนโดราเอม่อน' แต่สุดท้ายแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งแฟนๆ และ อ.ฟุจิโกะผู้เขียน โดราเอม่อนก็จึงได้กลับมาใหม่อีกครั้ง ในตอนแรก ของรวมเล่มที่ 7 และเขียนต่อเนื่องเรื่อยมาตลอด จวบจน อ.ฟุจิโกะ เสียชีวิตลงเมื่อ 26 กันยายน 2539 ดังนั้นจึงถือว่าเรื่องโดราเอม่อนไม่มีตอนจบอย่างเป็นทางการ

ที่มาของโดจินชิ โดราเอม่อน ตอนจบ

การ์ตูนชุดนี้เป็นงานโดจินชิ (การ์ตูนทำมือ) ที่วาดโดย อ.ทะจิม่า ยาสุเอะ (Tajima Yasue) ในชื่อกลุ่ม ว่า GA-FAKE COTERIE โดยใช้โครงเรื่องจากฟิกชั่นเกี่ยวกับตอนจบของโดราเอม่อน ที่แพร่กระจายตามเมล์ลูกโซ่ (หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า Forward Mail) ซึ่งเริ่มวางขายครั้งแรกในงาน Comic Market ฤดูร้อน ครั้งที่
68 ช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม 2548

และหลังจากนั้น ในงาน Comic Market ครั้งต่อมา (C69) ฤดูหนาว ช่วงวันที่ 29-30 ธันวาคม 2548 ผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับความสนใจจากแฟนๆโดราเอม่อน จนเริ่มมีการเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นที่กว้างขวางและปัจจุบันก็ยังมีผู้ให้ความสนใจ จนหนังสือขาดตลาด และต้องพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง

จุดประสงค์ของ อ.ทะจิม่า ยาสุเอะ ผู้เขียน

โดจินชิเล่มนี้ ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกในการสร้างอนิเมชั่นฉบับหนังโรง (โนบิตะกับพีสุเกะ 2006) โดย อ.ทะจิม่า ยาสุเอะ ได้เขียนคอมเมนต์ พูดถึงการเขียนการ์ตูนชุดนี้ไว้ที่หลังปกว่า

ตั้งแต่ที่ผมจำความได้ ก็พบว่ามีโดราเอม่อนอยู่เคียงข้างของผมแล้ว หนังสือเล่มแรกที่เอาตังค่าขนมซื้อ จำได้ว่าเป็นเล่มพิเศษกับสงครามแย่งต้นฉบับ
ของโคโรโคโร่คอมมิค และ บอนบอนคอมมิค ในทุกๆหน้าร้อนอันแสนยาวนาน ผมกับเพื่อนก็มักจะรอคอยงานใหม่อย่างตื่นเต้นเสมอ และคิดว่าซักวันหนึ่งผมต้องเขียนงานการ์ตูนที่ดีอย่างนั้นให้ได้บ้าง และตอนนี้ผมก็แปลกใจตัวเองเหมือนกัน ที่ได้วาดต้นฉบับที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ออกมาได้ผลงานชิ้นนี้
ก็ขอมอบเป็นที่ระลึกให้กับงานอนิเมชั่นตอนใหม่ของโดราเอม่อนที่กำลังจะเข้าฉายในฐานะที่ผมเป็นแฟนโดราเอม่อนคนหนึ่ง

ทะจิม่า T ยาสุเอะ

ประวัติการ์ตูนโดราเอม่อน

โดราเอมอน (ญี่ปุ่น: ドラえもん, โดะระเอโม็น) หรือ โดเรมอน เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แต่งโดย ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (藤子不二雄) เป็นเรื่องราวของหุ่นยนต์แมวหูด้วน ชื่อ โดราเอมอน ที่มาจากอนาคตที่ต้องคอยช่วยเหลือเด็กประถมจอมขี้เกียจ โนบิตะ (โนบิ โนบิตะ) อยู่ตลอดเวลา ด้วยของวิเศษต่าง ๆ จากกระเป๋ามิติที่ 4

โดราเอมอน มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 2 คำรวมกัน คือ โดราเนโกะ แปลว่า แมวหลงทาง และเอม่อน เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อน เมื่อมารวมกันจึงกลายเป็น "โดราเอมอน"

เนื้อเรื่องส่วนมากจะเกี่ยวกับปัญหาของโนบิตะจากโรงเรียนหรือกับเพื่อนๆ (โนบิตะมักถูกเพื่อนๆ แกล้ง แต่บางทีก็ชอบหาเรื่องใส่ตัวเอง) เพื่อนของโนบิตะที่เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องคือ ชิซึกะ สาวน้อยผู้เป็นที่รักของเพื่อน ๆ และโนบิตะแอบชอบอยู่, ไจแอนท์ เด็กที่ดูอันอันธพาลนิด ๆ แต่จริงๆ เป็นคนอ่อนไหวใช่เล่น และรักการร้องเพลง, ซูเนโอะ เด็กรวยประจำกลุ่ม มีนิสัยชอบคุยโม้, และ เดคิซึงิ เด็กเรียนเก่ง นิสัยดี รักความถูกต้อง มีน้ำใจ(ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก) ตัวละครสำคัญนอกจากนี้ก็มีพ่อและแม่ของโนบิตะ ซึ่งแม่ดูจะมีบทบาทในเรื่องมากกว่าพ่อ

แม้ว่าโนบิตะ ไจแอนท์ ซูเนโอะ และคนอื่นๆ จะดูเหมือนมีปัญหากันบ่อย ๆ แต่ลึก ๆ แล้วก็รักและช่วยเหลือกันดี จะเห็นได้จากตอนพิเศษต่าง ๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ต้องออกไปผจญภัย (บางทีก็นอกโลก ใต้ทะเล หรือว่ายุคไดโนเสาร์)

โดราเอมอนมีน้องสาว (หุ่นยนต์แมวเหมือนกัน แต่หูไม่ด้วน) ชื่อ โดเรมี โดเรมีก็มีกระเป๋ามิติที่ 4 และของวิเศษเช่นเดียวกัน แต่รูปร่างลักษณะของของวิเศษจะออกน่ารัก ๆ ดูเป็นแบบเด็กผู้หญิงมากกว่า

ความนิยมในการ์ตูนเรื่องโดราเอม่อน

โดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และแม้ว่าเรื่องนี้จะจบลงไปนานแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ โดยมีการพิมพ์ใหม่ หรือนำออกมาฉายซ้ำออกอากาศอยู่เรื่อย ๆ

เคยมีการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาว่าสาเหตุที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยมมากนั้น เป็นเพราะตัวละครโนบิตะ พระเอกของเรื่อง มีลักษณะเป็นคนอ่อนแอ ขี้แพ้ ทำอะไรก็มักไม่ค่อยสำเร็จ หากมีเรื่องที่ถนัดอยู่บ้างก็เป็นเรื่องที่สังคมไม่ให้ความสำคัญหรือการยกย่อง เช่น เล่นพันด้าย หรือยิงปืนแม่น (ในบางตอน โนบิตะก็เป็นคนยิงปืนไม่แม่น แต่ในบางตอนผู้แต่งกลับเขียนให้โนบิตะมีความสามารถนี้) และเนื่องจากลักษณะนี้เองทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่มีความรู้สึก "มีส่วนร่วม" และเปิดใจให้ตัวละครอย่างโนบิตะเข้ามาในจิตใจได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ล้วนรู้สึกว่าตนเองคือผู้แพ้ คือผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแก ไร้ความสามารถ หน้าตาไม่ดี ไม่มีความสามารถ และย่อมอยากและหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้มาช่วยเหลือเรื่องต่างๆให้แก่เรา ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือโดราเอมอนนั่นเอง

โดราเอมอนนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่อย่างหนึ่งก็ได้ จากเรื่องจะเห็นได้ว่า โดราเอมอนมักออกมาช่วยเหลือ ปกป้อง แก้ปัญหาโนบิตะ ในยามคับขันหรือเดือดร้อน เสมอๆ เป็นบทบาทของ "แม่ผู้ใจดี" ซึ่งก็คือสิ่งที่มนุษย์เราต้องการอยู่ลึกๆ และในบางตอนโดราเอมอนก็แสดงบท "แม่ใจร้าย" คือการแก้เผ็ดหรือปล่อยให้โนบิตะผจญกับความยากลำบากที่มักเป็นผู้ก่อขึ้นเองจากความรู้สึกในด้านชั่วร้าย เช่นการอิจฉาริษยาผู้อื่น การเกลียดชังผู้อื่น การโกหก เพื่อเป็นการสั่งสอนโนบิตะให้รู้จักความผิดชอบชั่วดี